ธุรกิจSME (Small and Medium Enterprises) หรือที่เรียกในชื่อภาษาไทยว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประกอบไปด้วย คณะบุคคล บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยประเภทของ SME จะครอบคลุมกิจการหลัก 3 กิจการ ได้แก่
1. กิจการการผลิต ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และกิจการเหมืองแร่ และรูปแบบการผลิตที่ทำวัตถุดิบที่มีอยู่เดิมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
2. กิจการการค้า กิจการที่เกี่ยวกับการค้า ทั้งกิจการค้าส่งและกิจการค้าปลีก รูปแบบกิจการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การค้าขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงกิจการการผลิต
3. กิจการบริการ กิจการเกี่ยวกับร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงและกิจการที่เกี่ยวกับการบริการทั้งหมด
ธุรกิจSME มักเกิดขึ้นจากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือกลุ่มคนที่มีความคิดริเริ่มในการประกอบธุรกิจเพื่อหากำไร โดยทั่วไป ธุรกิจSME จะมีลักษณะดังนี้
1. ขนาดของธุรกิจ
ธุรกิจ SME จะมีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ทั้งในแง่ของจำนวนพนักงานและรายได้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจน
2. การลงทุนและการบริหารจัดการ
เจ้าของธุรกิจมักจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยตนเอง และการลงทุนอาจใช้ทุนส่วนตัวหรือทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ
3. ความยืดหยุ่น
ธุรกิจSME มักมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดได้รวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องผ่านขั้นตอนหรือขบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนเหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่
4. การสร้างงาน
ธุรกิจSME มักเป็นแหล่งจ้างงานหลักในเศรษฐกิจท้องถิ่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และเพิ่มโอกาสในการทำงาน
5. อุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ธุรกิจSME สามารถเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิต การค้า การบริการ หรือการเกษตร
แม้ธุรกิจSME จะถูกจัดเป็นวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่กลับมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสังคมเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตราจากการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ทำให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มคนในภูมิภาคต่างๆ นอกเมืองหลวง
ธุรกิจSME จึงเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก ป้องกันการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจาก SME จะเป็นผู้นำเทรนด์คิดค้นและผลิตสินค้าใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดอยู่เสมอทำให้เกิดการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม
Comments